คำแปลและความหมายของธัมมจักกัปปวัตตนสูตร คำสอนบทแรกจาก #พระพุทธเจ้า


 

บทสวดมนต์ต่างๆในพระพุทธศาสนา นอกเหนือจากบทสวดสรรเสริญพรรณนาคุณของพระรัตนตรัยตามที่เรารู้จักกันแล้ว บางบทก็ได้แสดงพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าด้วยเช่นกัน จุดประสงค์ก็เพื่อทำให้ผู้คนในภายหลังจดจำพระธรรมเทศนาผ่านบทสวดมนต์ที่สวดอยู่เป็นประจำ เป็นการธำรงค์รักษาคำสอนในอีกรูปแบบหนึ่งไปในตัว ทุกครั้งที่ได้สวดมนต์บทที่เป็นพระธรรมเทศนา จึงเป็นเหมือนกับการได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าต่อหน้าพระพักตร์ ได้รับฟังคำสอนของพระองค์ที่เคยตรัสสอนไว้แล้วเมื่อครั้งสมัยพุทธกาล จึงนับเป็นบุญกุศลใหญ่ที่เราได้สวดมนต์สาธยายคำสอนของพระพุทธเจ้า และช่วยรักษาคำสอนของพระองค์ไม่ให้เลือนหายไปตามกาลเวลา ยิ่งถ้าเราเข้าใจความหมายก็จะยิ่งทำให้เราได้ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าไปทุกครั้งที่เราได้สวดด้วยเช่นกัน ทำให้เกิดความเข้าใจในธรรมมากยิ่งขึ้น สามารถแนะนำธรรมะที่เรารู้แก่ผู้อื่นได้

ในบรรดาพระธรรม 84,000 พระธรรมขันธ์ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรเป็นพระธรรมเทศนาบทแรกของพระพุทธองค์ ที่ได้ตรัสสอนเหล่าปัญจวัคคีย์ในวันอาสาฬหบูชา  มีใจความแสดงถึงความจริงสูงสุดของ​สังสารวัฏ​ และแนวทางไปสู่ความดับทุกข์โดยสิ้นเชิง เป็นแม่บทของคำสอนในพระพุทธศาสนา ที่ขีดเส้นแนวทางการปฏิบัติตนไปสู่พระนิพพาน ถูกรจนาด้วยภาษาบาลี และกลายเป็นบทสวดมนต์บทหนึ่งมาจนถึงปัจจุบัน

ดังนั้นจึงควรที่เราจะได้ศึกษาคำแปลและความหมายของพระธรรมเทศนาที่สำคัญยิ่งนี้ไว้ อันจะเป็นการเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจว่าปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้านั้นมีเนื้อหาอย่างไร? เหตุไฉนพระสูตรนี้จึงได้กล่าวกันว่า เป็นแม่บทในพระพุทธศาสนา? เมื่อเราศึกษาจนเข้าใจดีแล้ว ก็จะทำให้เราเข้าใจธรรมะในพระพุทธศาสนาได้ดียิ่งขึ้น  และปฏิบัติตนไม่คลาดเคลื่อนไปจากมรรคผลนิพพาน เมื่อใดสวดบทธัมมจักฯนี้ ก็จะเข้าใจในเนื้อหาธรรมะ เพิ่มพูนปัญญาแก่ตนเองสืบไป...

 
อธิบายคำแปลและความหมายธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 1 มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางที่ควรดำเนินไป


"เอวัมเม สุตัง" “ข้าพเจ้าได้สดับมา อย่างนี้”

"เอกัง สะมะยัง ภะคะวา" "สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า"

"พาราณะสิยัง วิหะระติ อิสิปะตะเน มิคะทาเย ฯ" "เสด็จประทับอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันใกล้เมืองพาราณสี"

"ตัตระ โข ภะคะวา ปัญจะวัคคิเย ภิกขู อามันเตสิ ฯ" "ในกาลนั้นแลพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเตือนพระปัญญจวัคคีย์อย่างนี้ว่า"


เริ่มต้นธัมมจักกัปปวัตตนสูตร จะขึ้นต้นว่า "เอวัมเม สุตัง" มีคำแปลว่า "ข้าพเจ้า ได้ฟังมาแล้วอย่างนี้" ผู้กล่าวนี้ก็คือท่านพระอานนท์ ผู้เป็นพุทธอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้า นอกจากท่านจะทำหน้าที่อุปัฏฐากดูแลพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านยังเป็นผู้ทรงจำพุทธพจน์ทุกบทของพระพุทธเจ้าได้อย่างแม่นยำ เมื่อคราวสังคายนาครั้งที่ 1 หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ท่านจึงได้รับหน้าที่เป็นผู้วิสัชนาพระสูตร และพระอภิธรรม เป็นผลทำให้พระไตรปิฎกส่วนที่เป็นพระสูตร และพระอภิธรรมเกิดขึ้นได้เพราะท่านพระอานนท์นี้เอง

หลังจากการเกริ่นนำไว้ ท่านพระอานนท์ก็บอกเล่าถึงช่วงเวลา คำว่า "สมัยหนึ่ง" ที่ว่ามานี้ ก็คือวันอาสาฬหบูชาเดือน 8 ก่อนพุทธศักราช 45 ปี เกือบสองเดือนหลังจากวันวิสาขบูชาเดือน 6 ซึ่งเป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ส่วนสถานที่ที่พระองค์แสดงธรรมก็คือป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ซึ่งอยู่ใกล้เมืองพาราณสี


(เข้าสู่พระธรรมเทศนา)

เทฺวเม ภิกขะเว อันตา (ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่สุด ๒ เหล่าอย่างนี้)

ปัพพะชิเตนะ นะ เสวิตัพพา (อันบรรพชิตไม่ควรเสพ)

โย จายัง กาเมสุ กามะสุขัลลิกานุโยโค (คือการประกอบตนให้พัวพันด้วยกาม ในกามทั้งหลายนี้ใด)

หีโน (เป็นธรรมอันเลว)
คัมโม (เป็นเหตุให้ตั้งบ้านเรือน)
โปถุชชะนิโก (เป็นของมนุษย์ปุถุชน)
อะนะริโย (ไม่ใช่ของคนไปจากข้าศึกคือกิเลส)
อะนัตถะสัญหิโต (ไม่ประกอบไปด้วยประโยชน์)

โย จายัง อัตตะกิละมะถานุโยโค (คือประกอบความเหน็ดเหนื่อยด้วยตนเหล่านี้ใด )
ทุกโข (ให้เกิดทุกข์แก่ผู้ประกอบ)
อะนะริโย (ไม่ใช่ไปจากข้าศึกคือกิเลส)
อะนัตถะสัญหิโต (ไม่ประกอบไปด้วยประโยชน์)
 
เอเต เต ภิกขะเว อุโภ อันเต อะนุปะคัมมะ มัชฌิมา ปะฏิปะทา
(ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อปฏิบัติอันเป็นกลางไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั่นนั้น)
ตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา (อันตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง )
จักขุกะระณี ญาณะกะระณี (ทำให้เกิดธรรมจักษุ ทำให้เกิดญาณเครื่องรู้)
อุปะสะมายะ อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตะติ ฯ (ย่อมเป็นไปเพื่อเข้าไปสงบระงับจากกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้ดี เพื่อ ความดับ)


เนื้อหาตอนต้นของธัมมจักเริ่มด้วยมัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง ซึ่งเป็นการค้นพบใหม่ที่ไม่เหมือนกับแนวทางที่เชื่อกันว่าจะทำให้พ้นทุกข์ในยุคนั้นสองสายคือ กามสุขัลลิกานุโยค การตามประกอบความสุขในกาม และอัตตกิลมถานุโยค การทรมานตนให้ได้รับความลำบาก เป็นทางสุดโต่ง 2 สายที่ไม่นำไปสู่ความพ้นทุกข์ พระพุทธองค์ค้นพบว่าทางไปสู่นิพพานนั้น จะต้องไม่ไปสู่ทางสุดโต่งทั้ง 2 แต่จะต้องเป็นทางสายกลาง ซึ่งอยู่ระหว่างแนวทางทั้งสอง คือไม่ติดในกาม แต่ก็ไม่ทรมานตนให้ได้รับความลำบากเช่นกัน จึงเรียกว่าทางสายกลาง

ถึงแม้ว่าพระพุทธเจ้าจะตรัสสอนบรรพชิตโดยตรง เพราะผู้ฟังเป็นนักบวชก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า คฤหัสถ์จะไม่สามารถทำได้ ความจริงแล้วทางสายกลางนี้ก็ใช้เป็นแนวทางได้สำหรับคฤหัสถ์ ซึ่งได้แก่การทำงานหรือการดำเนินชีวิต

เพราะทางสุดโต่งทั้งสองสายนี้ ก็ล้วนมีในคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนด้วย ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน หรือการดำเนินชีวิตอื่นๆ ตัวอย่างเช่นหากเปรียบกับการทำงาน กามสุขัลลิกานุโยค ก็เหมือนกับการติดสบายไม่ลงมือทำงานให้สำเร็จ หรือถ้าเป็นการเรียนก็เป็นความขี้เกียจ ห่วงเล่น ลักษณะนี้คือกามสุขัลลิกานุโยค ความย่อหย่อนในการทำงาน ส่วนอัตตกิลมถานุโยค ก็เปรียบเหมือนความตั้งใจจะทำงานให้เสร็จเร็วๆ จนละเลยขั้นตอนต่างๆในการทำงาน ผลก็คืองานก็ออกมาไม่ดี หรือซ้ำร้ายก็อาจก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมา ถ้าเป็นการเรียนก็เหมือนการตั้งใจเรียนโดยฝืนตัวเอง ถล่มทลายสังขาร พักผ่อนไม่เพียงพอ ผลก็คือแทนที่จะเข้าใจความรู้ก็ดันเจ็บไข้ได้ป่วยแทน ส่วนมัชฌิมาปฏิปทาก็เปรียบเหมือนทางสายกลาง ไม่หย่อนไปไม่ตึงไป ปฏิบัติตามขั้นตอนการทำงานอย่างถูกต้อง ทำให้งานสำเร็จด้วยดี ถ้าเป็นการเรียนก็คือการบริหารเวลาอ่านหนังสือและการพักผ่อนดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม ก็จะทำให้เข้าใจความรู้ โดยไม่ต้องถล่มทลายสังขาร

ทางสุดโต่งนี้ยังครอบคลุมไปถึงการดำเนินชีวิตได้เช่นกัน กามสุขัลลิกานุโยคเปรียบเหมือน ความประมาท ลุ่มหลงไปตามกระแสกิเลส จนทำให้ห่างไกลจากการสั่งสมบุญ ทำให้ชีวิตมีอันตราย ทั้งจากอันตรายในชาติปัจจุบันและอันตรายจากภัยอบายในภพหน้า เพราะไม่ได้ตระหนักระวังถึงสิ่งที่ควรระวัง ส่วนอัตตกิลมถานุโยค เปรียบเหมือนความเครียดในชีวิต ความจมปลักกับปัญหาของตน ทัศนคติที่เลวร้ายต่อโลก ทำให้รู้สึกท้อแท้ หดหู่ บั่นทอนกำลังใจที่จะทำความดีเป็นต้น ส่วนมัชฌิมาปฏิปทา คือการตระหนักรู้ถึงเรื่องบาปบุญคุณโทษ และมองชีวิตแบบผู้มีปัญญา ไม่หลงระเริงในชีวิต และไม่จมปลักกับปัญหาจนไม่ทำอะไร ไม่ประมาทในชีวิต แต่ก็ไม่ถึงกับเคร่งเครียด หมั่นสั่งสมบุญ ละเว้นบาป และปฏิบัติหน้าที่การงานของตนด้วยดี ก็จะทำให้ชีวิตปลอดภัย มีสุขทั้งในภพนี้และภพหน้า ทางสายกลางครอบคลุมไปถึงเรื่องอื่นๆอย่างนี้ (แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว เรามักจะติดในกามสุขัลลิกานุโยคมากกว่าอัตตกิลมถานุโยค ให้เราลองเว้นจากสิ่งที่ดึงใจเราให้ยึดติด เช่นสื่อต่างๆ แล้วจะพบว่าเรามีเวลาเหลือในชีวิตสำหรับการทำงาน การเรียน หรือการใช้ชีวิตมากขึ้น)

นี่คือทางสุดโต่งและทางสายกลางในฝ่ายของทางโลก ส่วนทางสายกลางทางธรรมที่ทำให้พ้นทุกข์ พระพุทธเจ้าได้ตรัสอธิบายไว้ว่า

กะตะมา จะ สา ภิกขะเว มัชฌิมา ปะฏิปะทา (ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ข้อปฏิบัติอันเป็นกลางนั้นเป็นไฉน)

ตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา (ที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง)

จักขุกะระณี ญาณะกะระณี (ทำให้เกิดธรรมจักษุ ทำให้เกิดญาณเครื่องรู้)

อุปะสะมายะ อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตะติ ฯ
(ย่อมเป็นไปเพื่อเข้าไปสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้ดี เพื่อความดับ )

อะยะเมวะ อะริโย อัฏฐังคิโก มัคโค ฯ (ทางมีองค์ ๘ เครื่องไปจากข้าศึก คือกิเลสนี้เอง)
เสยยะถีทัง (ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ)

สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นถูกต้อง)
สัมมาสังกัปโป (ความดำริถูกต้อง)
สัมมาวาจา (การพูดถูกต้อง)
สัมมากัมมันโต (การกระทำถูกต้อง)
สัมมาอาชีโว (การเลี้ยงชีวิตถูกต้อง)
สัมมาวายาโม (ความเพียรถูกต้อง)
สัมมาสะติ (มีจิตสำนึกถูกต้อง)
สัมมาสะมาธิ (ทำสมาธิอย่างถูกต้อง)

อะยัง โข สา ภิกขะเว มัชฌิมา ปะฏิปะทา (ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันนี้แล​ ข้อปฏิบัติที่เป็นกลางนั้น)

ตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา (ที่ตถาคต ได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง)

จักขุกะระณี ญาณะกะระณี (ทำให้เกิดธรรมจักษุ ทำให้เกิดญาณเครื่องรู้)

อุปะสะมายะ อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตะติ ฯ
(ย่อมเป็นไปเพื่อความเข้าไปสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้ดี เพื่อความดับ)


สรุปโดยย่อ มรรคทั้ง 8 ประการนี้ก็คือการปฏิบัติขัดเกลาตนตามหลักไตรสิกขา (สิ่งที่ควรศึกษาขัดเกลาในตน 3 ประการ) คือศีล สมาธิ และปัญญาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ทางกาย วาจา ใจ จัดมรรคทั้ง 8 ประการลงในไตรสิกขาได้ดังนี้...
สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นถูกต้อง) และสัมมาสังกัปโป (ความดำริถูกต้อง) จัดเข้าในปัญญาสิกขา (ข้อที่ควรศึกษาทางปัญญา)

สัมมาวาจา (การพูดถูกต้อง) สัมมากัมมันโต (การกระทำถูกต้อง) และสัมมาอาชีโว (การเลี้ยงชีวิตถูกต้อง) จัดเข้าในศีลสิกขา (ข้อที่ควรศึกษาทางศีล)
สัมมาวายาโม (ความเพียรถูกต้อง) สัมมาสะติ (มีจิตสำนึกถูกต้อง) และสัมมาสะมาธิ (ทำสมาธิอย่างถูกต้อง) จัดเข้าในสมาธิสิกขา (ข้อที่ควรศึกษาทางสมาธิ)

การปฏิบัติตนเช่นนี้คือ ทางสายกลางในพระพุทธศาสนา ที่จะทำให้ไปสู่ความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งมวล เป็นสิ่งที่ต้องนำมาปฏิบัติให้เกิดผลแก่ตนเอง เมื่อปฏิบัติดังนี้ นับว่าปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างถูกต้องทีเดียว

ส่วนรายละเอียดของมรรค 8 ประการนี้จะเป็นอย่างไร? ทำเช่นไรจึงจะถือว่าถูกต้องตามมรรคทั้ง 8 ประการ? จะขออธิบายในตอนถัดไป

จบตอนที่ 1

Cr. ปธ.ก้าว​ต่อ​ไป

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

โครงการสวดธรรมจักร 108 จบ ครอบครัวเป็นสุข สังคมร่มเย็น